“รู้ทัน กลโกง” กับการซื้อขายออนไลน์

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ร้านค้าหรือบริษัทฯ ต่างๆ จึงมีบริการที่เป็นทางเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว สินค้ามีความทันสมัย และสามารถสั่งซื้อขายได้ตลอดทุก 24 ชั่วโมง ผู้ขายก็หารายได้เพิ่ม รายได้เสริมมากขึ้นแค่มีช่องทางผ่านสื่อออนไลน์โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน

แต่ในอีกด้านก็ยังมีปัญหาอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่มาในโลกไซเบอร์ พฤติกรรมที่น่าสงสัยและเข้าข่ายเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ มีดังนี้

  1. ขายสินค้าราคาถูกกว่าตามท้องตลาด
  2. หลอกให้โอนเงินค่าสินค้าล่วงหน้าโดยไม่มีหลักฐานให้กับผู้โอน
  3. เมื่อผู้โอนได้โอนเงินแล้ว ผู้ขายจะไม่สามารถติดต่อกลับได้ในทุกกรณี
  4. มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้ยากต่อการติดตาม
  5. ผู้ซื้อนัดเจอเพื่อดูสินค้า และขอรับสินค้าก่อนโดยอ้างว่าจะโอนเงินให้ภายหลัง
  6. ปลอมแปลงข้อความทาง SMS จากธนาคาร เพื่อหลอกว่าโอนเงินให้แล้วหรืออ้างว่าโอนเงินเกินให้โอนกลับคืน
  7. อ้างว่าเว็บไซต์ขายของเป็นคนกลางในการชำระเงิน ให้ผู้ขายแจ้งขอรับเงินจากเว็บไซต์ขายของออนไลน์โดยตรง
  8. ปลอม SMS จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ อ้างว่าเป็น SMS การันตีว่าเป็นลูกค้าที่เชื่อถือได้ หรือ SMS ยืนยันว่าลูกค้ารายนี้ทำการโอนเงินแล้ว ซึ่งทางเว็บไซต์ขายของออนไลน์ไม่มีบริการ SMS ดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามมิจฉาชีพจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกลโกงไปเรื่อยๆ ยากที่จะป้องกัน ดังนั้นหากมีการซื้อ-ขาย ควรนัดรับสินค้าเพื่อดูสินค้าและชำระเงินต่อหน้าจะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด

 

ไม่อยากถูกโกงควรทำอย่างไร

ก่อนทำการซื้อ-ขาย ควรตรวจสอบข้อมูลจากผู้ขาย เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ เลขที่บัตรประชาชน และเลขที่บัญชี พร้อมทั้ง ชื่อบัญชี ภาษาไทย + ภาษาอังกฤษ ให้ชัดเจน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปตรวจสอบใน Google ว่าบุคคลหรือร้านนั้นมีการถูกแจ้งเตือนไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลเล็กน้อยที่เราจะสามารถตรวจสอบได้

ถ้าต้องโอนเงินให้ก่อน ควรขอเลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชี เบอร์โทรศัพท์บ้านของผู้ขาย และโทรเช็คว่ามีตัวตนอยู่จริง

กรณีอ้างว่าเป็นร้านค้า ให้ขอหลักฐาน เบอร์โทรศัพท์ของร้าน ทะเบียนการค้า หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นการยืนยันว่าเป็นร้านค้าจริง ๆ

ถ้าชื่อบัญชีไม่ตรงควรระวังและตรวจสอบข้อมูลจากผู้ขายโดยละเอียด ให้ขอเบอร์โทรบ้าน และโทรเช็คก่อนทุกครั้ง

ข้อสังเกต พฤติกรรมการหลอกให้โอนเงินชำระค่าสินค้าก่อน

  1. โอนเงินแล้วไม่ส่งสินค้า หรือให้โอนครึ่งหนึ่งของราคาสินค้า
  2. ผู้ขายจะแจ้งว่าส่งของ (แต่ในนั้นเป็นกล่องเปล่า) ให้ทางไปรษณีย์แล้ว และให้ผู้ซื้อทำการตรวจสอบรหัส EMS ผ่านเว็บไปรษณีย์ไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ซื้อได้เช็ครหัส EMS และโทรสอบถามเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ต้นทางแล้วยืนยันว่าผู้ขายส่งของจริง ทำให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและโอนเงินไปให้ แต่พอได้รับกล่องพัสดุจริงๆ จะเป็นกล่องเปล่าไม่มีสินค้าที่สั่งอยู่ในนั้น
  3. ส่งสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ลงขายไว้

เราจะทำอย่างไรเมื่อถูกโกง

  1. บันทึกรายละเอียดของสินค้านั้นไว้เป็นหลักฐาน โดย print ออกมาเป็นเอกสาร
  2. เตรียมเอกสารหลักฐานการโอนเงิน , เลขที่บัญชีธนาคาร , หลักฐานการติดต่อระหว่างคุณกับมิจฉาชีพ
  3. แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ท้องที่ที่โอนเงิน ว่า “ถูกฉ้อโกง” เพื่อลงบันทึกประจำวัน และออกใบแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไป
  4. นำใบแจ้งความ ส่งให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ เพื่อขอหมายเลข IP ของมิจฉาชีพที่ใช้ติดต่อ (หมายเลข IP สามารถใช้ตามสืบตัวมิจฉาชีพและขยายผลในการจับกุมได้)
  5. นำเอกสารทั้งหมดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ท้องที่ที่แจ้งความ เพื่อออกหมายจับ และดำเนินการจับกุมตัว หรือ ส่งให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

หมายเหตุ : ต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” อย่าแจ้งเพียงว่า แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน

คำแนะนำเพื่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์อย่างปลอดภัย

 เว็บไซต์ขายของออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ให้บริการโฆษณาเท่านั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นคนกลางในการจัดเก็บสินค้า รับ-ส่งสินค้า และการชำระค่าสินค้าหรือบริการ

หากมีกรณีฉ้อโกงเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการในทางคดีความด้วยตนเอง โดยทางเว็บไซต์จะจัดส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เสียหายตามคำร้องขอ รวมทั้งจะทำการระงับการใช้งานของผู้ใช้งานที่ต้องสงสัยว่าจะหลอกลวงต่อไป

 

 

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

ติดต่อ Line ID : @indigital (มีนะคะ)
คลิกเพื่อ ADD Line : https://line.me/R/ti/p/%40indigital

Fanpage : INdigital การตลาดออนไลน์
คลิก https://www.facebook.com/indigital.co.th/
เว็บไซต์ : www.indigital.co.th

 

ที่มา – http://tcsd.go.th/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *