Colonel Harland David Sanders ตำนานผู้ก่อตั้งร้านไก่ทอด KFC

Colonel Harland David Sanders หรือผู้พันแซนเดอร์ส เป็นผู้ประกอบการชาวอเมริกันที่ก่อตั้งไก่ทอด KFC ในรัฐเคนตักกี้ (Kentucky Fried Chicken) ซึ่งร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ขึ้นชื่อเรื่องไก่ทอดไปทั่วโลกเรื่องราวชีวิตเกี่ยวกับการทดลอง ความล้มเหลวสู่การประสบความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม

Harland David Sanders หรือที่เราเรียกกันว่า “ผู้พันแซนเดอร์ส” เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน ปี 1890 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐ Indiana เมือง Henryville เป็นบุตรชายคนแรกของ Wilbur David Sanders และ Margaret Ann Sanders โดยมีน้องชายชื่อ Clarence Saunders และน้องสาวชื่อ Catherine Sanders ผู้พันแซนเดอร์สเกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน พ่อของเขาทำงานพาร์ทไทม์ทั่วไปในเฮนรีวิลล์ ส่วนแม่ของเขาไม่ได้ทำงาน เพราะต้องทำหน้าที่เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูก ๆ ทั้ง 3 คน ต่อมาเมื่อผู้พันแซนเดอร์สอายุได้เพียง 6 ขวบ พ่อของเขาได้เสียชีวิตลงด้วยอาการเป็นไข้ ทำให้แม่ของเขาต้องออกไปรับจ้างเป็นคนปอกมะเขือเทศในโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง รวมไปถึงตอนกลางคืนก็ยังต้องรับจ้างเย็บผ้าด้วย ผู้พันแซนเดอร์สจึงต้องทำหน้าที่คอยเลี้ยงดูน้องอีก 2 คนอยู่ที่บ้าน หนึ่งในหน้าที่นั้นคือ การอาหารให้กับน้อง ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพ่อครัวในวัยเด็กของเขา แต่รายได้ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายภายในบ้าน จนเมื่อผู้พันแซนเดอร์สอายุได้ 10 ขวบเขาเริ่มงานมากมาย เขารับจ้างทำงานที่ฟาร์มข้าง ๆ บ้าน เป็นคนขายประกันและพนักงานดับเพลิง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแม่อีกแรง และตอนนั้นเขาเองก็ตัดสินใจที่จะลาออกจากโรงเรียนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ซึ่งเขาเรียนถึงแค่ชั้นประถม 7 เท่านั้น ด้วยความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ทำให้แม่ของเขาจึงตัดสินใจแต่งงานใหม่กับเจ้าของฟาร์ม โดยตอนนั้นผู้พันแซนเดอร์สมีอายุได้เพียง 12 ปี พ่อเลี้ยงคนใหม่ของเขาชอบใช้กำลังและทำร้ายร่างกายจนผู้พันแซนเดอร์สทนไม่ไหว เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปอยู่ที่เมือง Clark County และได้ทำงานที่ไร่แห่งหนึ่ง โดยได้ค่าแรงเดือนละ 15 ดอลล่าร์ เขาอยู่ที่นี่จนอายุได้ 15 ปี และตอนอายุ 16 ปี เขาก็ได้เปลี่ยนอาชีพไปเป็นกรรมกรก่อสร้างถนน ต่อมาทางกองทัพสหรัฐอเมริการับสมัครทหารเกณฑ์ เขาก็ได้ปลอมแปลงเอกสารของตนเองเนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ เพื่อจะเข้าไปเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ จนได้ไปประจำการอยู่ที่คิวบา เป็นเวลา 1 ปี

หลังจากที่เขาปลดประจำการจากกองทัพ ในปี ค.ศ. 1908 เมื่อผู้พันแซนเดอร์สอายุได้ 18 ปี เขาหวังจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ เขาได้แต่งงานกับ Josephine King และมีลูกด้วยกันสามคน คนแรกเขามีลูกชายชื่อ  Harland Jr. เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยและลูกสาวอีก 2 คน คือ Mildred Sanders และ Margaret Sanders ในระหว่างที่เขาได้เปลี่ยนงานหลายต่อหลายงาน ไม่ว่าจะเป็น คนขายประกันชีวิต ขับเรือกลไฟ เป็นเลขาของหอการค้าโคคัมบัส ซึ่งในระหว่างที่เขาทำงานที่หอการค้าโคคัมบัส เขาได้พบกับนักประดิษฐ์ตะเกียงที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติได้ ผู้พันแซนเดอร์สจึงตัดสินใจซื้อสิทธิบัตรและเปิดบริษัทผลิตตะเกียง แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลก็มีโครงการขยายไฟฟ้าสู่ชุมชน ทำให้ตะเกียงของเขากลายเป็นสินค้าที่ที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป ต่อมาผู้พันแซนเดอร์สมีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย โดยเรียนหลักสูตรทางไกลกับ Southern University จนในช่วงปี 1915 เขาสามารถประกอบอาชีพในการพิจารณาคดีที่ศาลได้ แต่อาชีพนี้ก็ต้องยุติลงเมื่อเขาทะเลาะวิวาทในศาลกับลูกความ และเขาตัดสินใจที่จะจบสายอาชีพนี้ในช่วงปี 1920

ผ่านมาหลายปี เมื่อเขาอายุ 40 ปี หลังจากที่ได้สะสมเงินเก็บมาหลายปี เขาได้ตัดสินใจนำเงินก้อนนั้นไปซื้อสถานีบริการโมเต็ลและร้านกาแฟที่เมือง Corbin รัฐ Kentucky และเขาได้เปิดร้านขายอาหารให้แก่คนที่เดินทางผ่านเส้นทางนั้น และด้วยความที่อาหารที่เขาทำมันมีรสชาติที่อร่อย จนเกิดการบอกปากต่อปากกัน ทำให้เริ่มมีคนแวะเข้ามาสั่งอาหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาตัดสินใจที่จะย้ายไปเปิดร้านอาหารที่โรงแรมฝั่งตรงข้าม และมีพื้นที่รองรับลูกค้าได้มากกว่าร้อยที่นั่ง ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างหนาหูกันในชื่อว่า “ไก่ทอดเคนทักกี้ของ Harland Sanders ” (Kentucky Fried Chicken of Harland Sanders) ในปี 1930 นักวิจารณ์อาหารชื่อดังอย่าง Duncan Hines ยกให้ร้านของผู้พันแซนเดอร์สเป็น Adventure in Good Eating ทำให้ร้านอาหารของเขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จนกระทั่งในปี 1935 ผู้ว่ารัฐเคนทักกีที่ชื่อ Ruby Laffoon ก็ได้แต่งตั้งให้ผู้พันแซนเดอร์ส เป็น “Kentucky Colonel” หรือ “ผู้พันแห่งเคนทักกี” โดยตำแหน่งนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งทางการทหาร แต่ให้เพื่อสดุดีสำหรับคนที่สร้างคุณงามความดีและทำประโยชน์ให้กับรัฐเคนทักกี ในปี 1939 ผู้พันแซนเดอร์สก็ได้คิดค้นวิธีการทอดไก่ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาทอดไก่กว่าครึ่งชั่วโมง ให้เหลือเพียงแค่ 9 นาที ด้วยวิธีการนำกระทะทอดแบบแรงดันเข้ามา ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในยุคนั้น

ในปี 1947 เขาได้หย่าร้างกับ Josephine King ภรรยาของเขาพาลูก ๆ กลับไปที่บ้านพ่อแม่ของเธอ แล้วได้แต่งงานใหม่ในปี 1949 กับ Claudia Ledington ซึ่งเป็นเลขาในร้านของเขาเอง ต่อมาในปี 1950 ตอนที่ผู้พันแซนเดอร์สอายุได้ 60 ปี เขาก็ได้รับตำแหน่งผู้พันอีกครั้งจากรองผู้ว่าการรัฐเคนทักกีที่ชื่อ Lawrence Weatherby และในคราวนี้ผู้พันแซนเดอร์สก็ได้เริ่มต้นสร้าง Personal Branding ด้วยการแทนตัวเองว่าผู้พัน และแต่งชุดสูทสีขาวและผูกไทร์สีดำแบบ String tie ที่มีเอกลักษณ์การแต่งตัวแบบผู้ดีชาวอเมริกาทางตอนใต้ และไว้หนวดเคราสีขาว พร้อมกับถือไม้เท้า โดยกลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์นับตั้งแต่นั้นมา

จนกระทั่งในปี 1956 มีการสร้างถนนตัดใหม่ ทำให้ลูกค้าไม่ค่อยใช้ถนนเส้นที่ผ่านร้านของเขาตั้งอยู่ ทำให้ยอดขายลดลงและเริ่มเป็นหนี้ จนกระทั่งต้องขายร้านเพื่อปลดหนี้สิน ในวัย 65 ปีเขาเกือบจะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ผู้พันแซนเดอร์สในวัย 66 ปี อยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการสังคมที่จ่ายให้เดือนละ 105 ดอลล่าร์ เขาคิดที่จะจบชีวิตของตัวเองลง พร้อมกับเขียนจดหมายลาตาย ในระหว่างที่เขียนจดหมายนี้ เขาคิดขึ้นมาได้ว่าเขายังไม่เคยประสบความสำเร็จในชีวิตเลยสักอย่าง และมันทำให้เขาลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่ว่าในช่วงชีวิตที่เหลือจะต้องประสบความสำเร็จให้จงได้ ต่อมาเขาเดินทางไปขายสูตรไก่ทอดทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วนำอุปกรณ์การทำอาหาร เช่น หม้อแรงดันสูง และสูตรไก่ทอด เพื่อสาธิตวิธีการทอดไก่และขายสูตร โดยคิดค่าแฟรนไชส์จำนวน 5 เซ็นต์ ในไก่ทอดทุก ๆ ชิ้น จนกระทั่งในปี 1960 ผู้พันแซนเดอร์สในวัย 70 ปี มีร้านแฟรนไชส์กว่า 400 ร้าน ทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยในปี 1963 มีรายงานว่า เขาสามารถทำกำไรได้กว่า 300,000 ดอลล่าร์ฯ จนกระทั่งในวันที่ 6 มกราคม ปี 1964 ผู้พันแซนเดอร์สในวัย 74 ปี เขาได้ตัดสินใจขายกิจการ Kentucky Fried Chicken ในประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กับ John Y. Brown Jr. และ Jack Massey ที่เป็นนักธุรกิจในเคนทักกี เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านดอลล่าร์ฯ และได้รับเงินรายปีอีกประมาณปีละ 250,000 ดอลล่าร์ ผู้พันแซนเดอร์สได้รับเกียรติให้เป็นโลโก้ของแบรนด์ Kentucky Fried Chicken ทุกครั้งที่มีการประชาสัมพันธ์แบรนด์ ผู้พันแซนเดอร์สก็จะทำหน้าที่ปรากฏตัวในสื่อต่าง ๆ ด้วยตนเอง

บริษัท Kentucky Fried Chicken ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนในปี 1969 ก็ได้เข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น New York หลังจากนั้นไม่นานสุขภาพของผู้พันก็แย่ลงเรื่อย ๆ จนตรวจพบว่า เขาได้เป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวอย่างเฉียบพลัน (acute leukemia) ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมในโรงพยาบาลที่เมือง Louisville รัฐ Kentucky เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1980 ในวัย 90 ปี  โดยได้นำร่างของผู้พันไปฝังไว้ที่สุสานที่ Cave Hill Cemetery ใน Kentucky ในปี 1986 บริษัท Kentucky Fried chicken ก็ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Pepsi Co. เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่ากว่า 840 ล้านดอลล่าร์ และในปี 1991 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น KFC ซึ่งเป็นอักษรย่อจากชื่อเต็มแทน และต่อมาในปี 2002 KFC ก็ได้เข้าไปอยู่ในการบริหารของ Yum! Brands ซึ่งมีบริษัทฟาสต์ฟู้ดอย่าง Pizza Hut, Taco Bell ที่ Pepsi Co. ได้เข้าซื้อกิจการไปเช่นกัน

– Colonel Harland David Sanders – กล่าวเอาไว้ว่า

“ความล้มเหลวเป็นเพียงอีกรสชาติหนึ่งของชีวิต และสิ่งที่อยู่ระหว่างทาง ความสำเร็จต่างหากคือ เป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ต่อให้ล้มเป็นพันครั้ง ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ความสำเร็จ ก็อยู่ไม่ไกล”

“มันไม่มีประโยชน์อันใดเลยที่คุณจะกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในสุสาน เพราะคุณไม่สามารถทำธุรกิจอะไรได้ในสุสานนั้น”

 

เกาะติดข่าวสารการตลาดออนไลน์ เทคนิคการโปรโมทโฆษณา

แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@inDigital ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

 

 

Fanpage : INdigital การตลาดออนไลน์

เว็บไซต์ : www.indigital.co.th

ที่มา :astrumpeople, biography

รูปภาพ : kilasdaerah.kompas

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *